top of page
  • Writer's pictureBew

Digitally Yours,

Updated: Sep 3, 2019

บทความนี้จะรวบรวม 8 keywords ที่ควรรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี IT ได้แก่

Digitally Yours,

* Artificial Intelligence

* Big Data

* Blockchain

* Cryptocurrency

* Cyber Security

* Data Science

* Digital Literacy

* ICO (Initial Coin Offering)



1. Artificial Intelligence (AI)

ปัญญาประดิษฐ์ เรียกสั้นๆ ว่า "เอไอ" สมองจักรกลสามารถเรียนรู้ (แนวคิด Machine Learning = การใช้ algorithm เรียนรู้ชุดข้อมูล/สถานการณ์เพื่อสร้างพฤติกรรมที่ถูกต้อง และทำให้ machine จักรกลสามารถตัดสินใจในเหตุการณ์ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนได้) ตัวอย่าง AI คือ รถยนต์ไร้คนขับ ปัญญาประดิษฐ์ AI ที่เล่นหมากล้อมชนะมนุษย์ที่เป็นแชมป์โลก (มี Machine Learning ขั้นสูงขึ้นที่เรียกว่า Deep Learning)

มีการใช้ซอฟท์แวร์เพื่อดำเนินการ วิเคราะห์ สกัดความหมายจากข้อมูล ประมวลภาพหรือวิดิโอเพื่อเข้าใจโลกของมนุษย์ smart apps ช่วยให้องค์กรมีประสิทธิภาพขึ้น มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการใช้ intelligent bots เพื่อการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับระบบ AI

AI robot

2. Big data

ข้อมูล หรือ ดาต้า (data) เป็นหัวใจของ Digital economy คำว่า Big Data ความหมายตรงตัวคือข้อมูลใหญ่โตมหาศาล คนที่รู้จักใช้ประโยชน์จากข้อมูลมหาศาลเหล่านี้จะได้เปรียบ ตอนนี้หลักใหญ่มุ่งเน้นไปทางการตลาด ด้านธุรกิจการค้า องค์กรสมัยใหม่จึงพยายามทำความเข้าใจ และเปลี่ยน Big Data เหล่านี้ให้กลายเป็น "Business intelligence " (เชาวน์ปัญญา/ความฉลาดทางธุรกิจ) ด้วยการทำ Data Mining


4 คุณสมบัติของบิ๊กดาต้า

ลักษณะของ Big Data เมื่อให้คำนิยามตามหลัก 4V

* Volume : สเกล/ปริมาณข้อมูล ที่ธุรกิจเก็บข้อมูลได้มีจำนวนมหาศาล ขนาดข้อมูลเป็นปัจจัยส่งผล สำคัญต่อการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data

* Velocity : ความเร็วในการผลิตข้อมูลบนโลกดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้น Big Data จะทำให้การวิเคราะห์ ข้อมูลรวดเร็วทันเวลามากขึ้น

* Variety : ความหลากหลายของรูปแบบข้อมูล แตกต่างทั้งแหล่งที่มาและรูปแบบของข้อมูลอาจ อยู่ในรูปแบบ ข้อความ วิดิโอ ตัวเลข ข้อมูลเซนเซอร์ ฯลฯ การทำความเข้าใจ Big Data จะช่วยให้รับทราบค่าของข้อมูลแต่ละแบบได้

* Veracity : ความถูกต้อง ผู้ใช้ข้อมูลจำเป็นต้องคัดกรองเลือกแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ก่อนนำ Big Data ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับความต้องการทางธุรกิจ

Data on Cloud

ตัวอย่างการใช้ประโยชน์ของ Big Data

* ด้านการศึกษา

เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ Big Data เพื่อจัดโปรแกรมการเรียนรวมทั้งสื่อการสอนได้เหมาะสมกับความสามารถและความสนใจของนักเรียนแต่ละคน มีประวัติผลการเรียนและพฤติกรรมนักเรียนอย่างละเอียด การวิเคราะห์ข้อมูลนักเรียนรายบุคคลนำไปสู่การวัดผลให้คะแนนที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน มีการแนะแนวทางการศึกษา จัดกิจกรรมเสริมทักษะที่อ่อน และแนวแนวอาชีพที่หลากหลายแต่เหมาะสมเป็นประโยชน์กับนักเรียน

*งานราชการ

มีการเก็บข้อมูลมหาศาลและหลากหลายในแต่ละวัน รวมทั้งการติดตามและวิเคราะห์ เช่น ด้านประชากร การเติบโต แหล่งพลังงาน การสำรวจทางภูมิศาสร์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ big data การศึกษาค้นคว้าและวิเคราะห์ข้อมูลนี้จะช่วยรัฐบาลและหน่วยงานราชการได้มากมาย ตัวอย่างเช่น การจัดสรรสวัสดิการและแนวทางด้านสิทธิประโยชน์ที่รวดเร็วและตรงตามความต้องการ มีการติดตามข้อมูลทางการเกษตรและปศุสัตว์ที่เป็นปัจจุบัน รวมทั้งแก้ไขปัญหาระดับประเทศอย่างการว่างงาน การก่อการร้าย และการสำรวจพลังงาน

*ด้านธุรกิจบันเทิง

การเข้าสิ่งอุปกรณ์ดิจิทัลที่สะดวกขึ้นทำให้ปริมาณข้อมูลที่ประกอบขั้นเป็น Big data ในอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย big data ช่วยให้สามารถเก็บข้อมูลของผู้ใช้แต่ละคน วิเคราะห์ความสนใจของผู้ชมและแนะนำเนื้อหาที่เหมาะสม เข้าหากลุ่มเป้าหมายด้วยการโฆษณาได้


ทำไม Data สำคัญ?

ข้อมูลที่ดีกว่าจะช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่ดีขึ้น และอาจนำไปสู่การวางกลยุทธ์องค์กรได้เหมาะสมกับขนาด สภาพภูมิศาสตร์ ความต้องการของลูกค้า และทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย

*หมายเหตุ* "Data" หมายถึง ข้อเท็จจริง ตัวเลข ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ information เมื่อนำ data มาประมวลผล ตีความ เรียบเรียง จัดระเบียบใหม่ หรือนำเสนอข้อมูลเหล่านั้นให้มีความหมาย มีประโยชน์ เราจะเรียกข้อมูลที่ผ่านกระบวนการเหล่านี้ว่า "Information"


3. Blockchain

บล๊อคเชน หมายถึง ห่วงโซ่ที่ร้อยเรียงของบล๊อค แต่ละบล๊อคจะมีชุดข้อมูลที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง ไม่สามารถอนุมัติย้อนเวลาได้ บล๊อคเชนเป็นเทคโนโลยีที่เหมือนสมุดบัญชี (Ledger) ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน Blockchain เป็นที่รู้จักมากขึ้นในปี 2009 เมื่อมีการสร้างสกุลเงินดิจิทัล (digital cryptocurrency) ที่มีชื่อว่า Bitcoin (บิทคอยน์) Blockchain มีคุณสมบัติเด่นคือ เมื่อบันทึกข้อมูลลงไปใน blockchain แล้วจะเปลี่ยนแปลงได้ยาก เขียนเพิ่มอย่างเดียวไม่มีการลบ และไม่มีศูนย์กลางการเก็บข้อมูล


แน่ใจได้มั้ยว่าปลอดภัย?

ในหนึ่ง blockchain มี 3 องค์ประกอบ คือ 1) Data 2) Hash 3) Hash ของบล๊อคก่อนหน้า

1) Data (ดาต้า) หรือข้อมูลของแต่ละบล๊อคก็จะแตกต่างกันตามประเภท เช่นในบล๊อคของ Bitcoin จะเก็บข้อมูลทางธุรกรรมไว้ เช่น ข้อมูลผู้ส่ง จำนวนเหรียญ และข้อมูลผู้รับ

2) Hash (แฮช) ชุดตัวอักษรซึ่งเป็นเหมือนลายนิ้วมือ มีลักษณะเฉพาะที่ไม่ซ้ำกันของแต่ละบล๊อค ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลในแต่ละบล๊อค แฮชจะเปลี่ยนไปด้วย กลไลนี้เป็นประโยชน์ต่อการตรวจจับการเปลี่ยนแปลง

3) Hash ของบล๊อคก่อนหน้า การมีข้อมูลแฮชของบล๊อคก่อนหน้าจะช่วยสร้างห่วงโซ่บล๊อคที่ทำให้ระบบบล๊อคเชนมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนแปลงข้อมูลในหนึ่งบล๊อคจะทำให้บล๊อคที่ตามมาใช้ไม่ได้และต้องเปลี่ยนตามไปด้วย บล็อคเริ่มต้นที่เกิดขึ้นเป็นอันแรกจะเรียกว่า "Genesis block" คือ จะไม่มีข้อมูล hash เชื่อมโยงบล๊อคก่อนหน้า

อีกกลไกที่ทำให้บล๊อคเชนมีความปลอดภัยสูง ป้องกันการปลอมแปลง คือ "Proof of work" หมายถึงชะลอการสร้างบล๊อคใหม่ในห่วงโซ่บล๊อค ตัวอย่างเช่น การเพิ่มบล๊อคใหม่ใน Bitcoin ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 นาที

วิธีสุดท้ายที่ทำให้การสร้างบล๊อกเชนให้ปลอดภัย คือ การกระจายข้อมูลด้วยวิธี peer to peer network ที่ทุกคนได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเครือข่ายและได้รับสำเนาทั้งหมดของ blockchain และมีสิทธิในการตรวจสอบบล๊อคใหม่ที่ถูกเพิ่มขึ้นมา และจะต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ร่วมกัน

ในปัจจุบัน blockchain มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้าง Smart Contract (สัญญาอัจฉริยะ) คือ โปรแกรมทำการแลกเปลี่ยนเหรียญอัตโนมัติตามเงื่อนไขที่กำหนด จริงๆ แล้ว Blockchain สามารถนำไปใช้กับกิจกรรมอย่างอื่นนอกเหนือจากการเงินได้ เช่น การทำทะเบียนดิจิทัลทางการแพทย์ (Digital medical records) การรับรองเอกสารอิเล็กทรอนิค (E-Notary) การจัดเก็บภาษี หรือแม้แต่การเลือกตั้ง


Beyond Physical Security

4. Cryptocurrency

Cyptocurrency (อ่านว่า คริปโตเคอร์เรนซี่) หมายถึง เงินออนไลน์ ที่เรียกว่าเป็น electronic money หรือ digital cash นั่นเอง ตัวอย่างสกุลเงินออนไลน์ที่คุ้นหูกันดี คือ Bitcoin (บิทคอยน์) ของคุณ Satoshi ที่ปฏิวัติความเชื่อมั่นเดิมว่าการเงินต้องรวมศูนย์กลางไปสู่การแลกเปลี่ยนบนเครือข่ายเพื่อนสู่เพื่อน (Peer-to- Peer network) เรียกว่าถ้าเราไม่สามารถเชื่อใจคนกลางได้ ก็ไม่ต้องมีคนกลาง ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องในระบบรับทราบทุกธุรกรรมการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าเทียม มีมติออกเสียงได้เท่ากัน

ปกติเซิร์ฟเวอร์กลางจะเป็นผู้บันทึกข้อมูล แต่ระบบของ digital cash จะป้องกันการจ่ายซ้ำซ้อนด้วยการกระจายอำนาจกระจายข้อมูล ให้สมาชิกแต่ละคนมีสมุดบัญชี (Ledger) ออนไลน์ประจำตัว ทุกคนต้องตรวจสอบว่าธุรกรรมนั้นมีผลใช้ได้จริงมั้ย และต้องได้มติร่วมกันที่เป็นฉันทามติ (consensus) 100% คือทุกคนต้องเห็นชอบ ไม่มีใครค้านแม้แต่คนเดียวธุรกรรมนั้นจึงจะดำเนินการต่อได้ (ฟังดูไม่น่าเชื่อว่าจะไม่มีสมาชิกคนไหนคัดค้าน ไม่เห็นด้วยเลยหรือ แสดงว่าต้องถูกต้องซื่อตรงในระดับที่ทุกคนเห็นพ้องร่วมกัน confirm ได้ แต่ Satoshi ก็พิสูจน์แล้วว่าระบบบิทคอยน์ทำได้บนพื้นฐานของการคำนวณที่แม่นยำ ที่สำคัญคือทำแล้ว คืน เปลี่ยน ไม่ได้ (การโกงที่เห็นตามข่าวจึงเกิดขึ้นนอกระบบ เช่น โดนหลอกให้โอนไปยังคนที่ไม่น่าไว้วางใจ

Bitcoin Blockchain

เรากำลังก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสด (cashless society) จึงควรทำความรู้จักศัพท์แสงด้านนี้ไว้บ้าง สกุลเงิน Cyptocurrency อย่าง Bitcoin (บิทคอยน์) เป็นอันแรก ได้รับความนิยมที่สุดและสร้างมาตราฐานทอง digital gold standard ให้กับ Cyptocurrency เริ่มมีสกุลอื่นๆ เป็นที่รู้จักบ้างแล้ว คือ Ethereum (อีเธอเรียม) Ripple (ริพเพิล) ด้วยเทคโนโลยี Blockschain และ กลไก Smart Contract คริปโตเคอร์เรนซี่ยังคงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ปกป้องตนเองจากภาวะค่าเงินลดลงของสกุลเงินประเทศตนเอง




5. Cyber Security

ความปลอดภัยออนไลน์ เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวพวกเราทุกคน แต่เรามักจะไม่ค่อยใส่ใจหรือระมัดระวังตัวว่ามีผู้ไม่ประสงค์ดีจ้องหาผลประโยชน์จากผู้อื่นจากเทคโนโลยีและความไม่รู้เสมอ เทคโนโลยีและวิธีการในการปกป้องระบบและข้อมูลจากภัยคุกคามและความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในโลกไซเบอร์เป็นเรื่องสำคัญมาก เวลาเราใช้อีเมล์เราก็ต้องการให้รหัสอีเมล์ ข้อมูลส่วนตัวบัญชีเรา หรือข้อความ/ข้อมูลที่เราส่งในอีเมล์ไม่รั่วไหลไปสู่บุลคลอื่น การปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่ใช่แค่ในคอมพิวเตอร์หรือมือถือเท่านั้นแต่ยังรวมถึงระบบเครือข่ายที่ให้บริการและซอฟท์แวร์ที่ใช้อีกด้วย


เมื่อเราใช้อินเตอร์เน็ท การมีระบบ firewall หรือซอฟท์แวร์ต้านไวรัสที่อัพเดทจะช่วยให้เกิด cyber security ในเบื้องต้นผู้ใช้งานควรตั้งรหัสผ่านที่ประกอบด้วยตัวเลขและสัญลักษณ์จะปลอดภัยกว่าการนำชื่อหรือวันเกิด เป็นไปได้ควรส่งเสริมระบบที่มีขั้นตอนสองชั้นในการพิสูจน์ตัวตนและการรับรองความน่าเชื่อถือ (identification and authentication) หลีกเลี่ยงการใช้ wifi สาธารณะ หลีกเลี่ยงการคลิ๊กที่ลิ้งค์ที่ไม่ทราบที่มาที่แน่ชัดเพื่อความปลอดภัยในกิจกรรมออนไลน์ มีการสำรองข้อมูล (Back up data) อย่างสม่ำเสมอ

การมีกฎหมายที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพจะทำให้การควบคุมการไหลของข้อมูลหรือการตรวจจับหาภัยคุกคาม หรืออาชญากรรมออนไลน์ (cyber crime) ได้ดีขึ้น แต่เราต้องป้องกันไม่เปิดโอกาสให้ความเสี่ยงเหล่านั้นเกิดขึ้นด้วย


Conciously use technology

6. Data Science

ความรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้ทำหน้าที่นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) มี 3 ด้าน คือ ความรู้ทางสถิติ (Statistics) ความรู้ด้าน Computer Science และความรู้ด้าน Data Analysis


Data analysis การวิเคราะห์ข้อมูล คือ การสกัดเอา information จาก data เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจและนำไปสู่การตัดสินใจที่ดี การทำ Data Analysis จะเกี่ยวข้องกับการทำ Data Mining, Descriptive/ Predictive Analysis, Statistical Analysis, Business Analytics รวมทั้ง Big Data Analytics

เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ Microsoft Excel เป็นซอฟท์แวร์พื้นฐานในการช่วยทำ Data Analysis และ Visualization นอกจากนี้ยังมี Python ภาษาของ Data Science ที่เป็นที่นิยมมากในขณะนี้ Python ช่วยให้เรานำเสนอข้อมูลอย่างเห็นภาพ (Data Visualization) ด้วย matplotlib, folium และ seaborn โปรแกรม R เป็นอีกภาษาในการเขียนโปรแกรมที่จำเป็นสำหรับทักษะที่สูงขึ้นเพื่อการประยุกต์ใช้ในธุรกิจ/องค์กร ด้วยการทำ Sorting หรือ Data Wrangling ด้วย dplyr


7. Digital Literacy

หลายองค์กรต้องการผู้มีความรู่ด้านเทคโนโลยี สถานศึกษามีการเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนมีความพร้อมทั้งความสนใจ ทัศนคติ ความรู้ความสามารถที่จะใช้เทคโนโลยียกระดับสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขัน ผู้ได้รับการศึกษาที่ดีทางการใช้เทคโนโลยี มีความรู้ด้านดิจิทัลที่ถูกต้อง ยิ่งจะเป็นประชากรดิจิทัลที่มีคุณค่าไม่เพียงต่อองค์กร ต่อประเทศของตนเอง แต่มีคุณค่าต่อสังคมโลกดิจิทัลไร้พรมแดนนี้ด้วย

Use Technology Wisely

Webwise หน่วยงานส่งเสริมการบูรการเทคโนโลยีสู่การศึกษาของ Department of Education and Skills ไอร์แลนด์ ได้แสดงองค์ประกอบของ 7 สมรรถนะด้านดิจิทัลคือ :


* Critical Thinking (การคิดแบบมีวิจารณญาณ)

คือ รู้จักวิเคราะห์และประเมินข้อมูลและข้อคิดเห็น มองเห็นแพทเทิร์นและความเชื่อมโยง รู้จักแยกแยะและสร้างข้อมูลที่มีความหมาย แล้วนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์จริง

คำถาม เช่น จะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลนี้น่าเชื่อถือ


* Online Safety Skills (ทักษะด้านความปลอดภัยออนไลน์)

คือ การบอกได้ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ และระมัดระวังในความปลอดภัยส่วนบุคคลของตนเองขณะใช้อินเตอร์เน็ท และเป็นประชากรในโลกออนไลน์ที่มีมารยาทด้วย หัวข้อที่ควรรู้ไว้ตัวอย่างเช่น การคุกคามในโลกไซเบอร์ (Cyber-bullying ) เนื้อหาที่เหมาะสมกับวัย การแชร์รูปและเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ การคัดลอกผลงาน/การขโมยความคิด (Plagiarism) การป้องกันไวรัส


* Digital Culture (วัฒนธรรมดิจิทัล)

สิ่งหลักที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้าหาเทคโนโลยี คือ การเข้ามามีส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดิจิทัลระดับโลก

อินเตอร์เน็ทเชื่อมโยงผู้คนจากทุกมุมโลก ให้พวกเราได้แบ่งปันประสบการณ์ที่หลากหลายหรือแชร์เนื้อหาออนไลน์กับผู้คนที่มีความสนใจคล้ายกัน เราใช้แอพติดต่อเพื่อน ครอบครัว ทำงาน สร้างธุรกิจ สร้างความบันเทิง รับรู้ข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีได้กลายมาเป็นส่วนหลักของการใช้ชีวิต


* Collaboration and Creativity (ความร่วมมือและความคิดสร้างสรรค์)

มนุษย์แตกต่างจากหุ่นยนต์เพราะเรามีความรู้สึกเห็นใจ อยากให้ช่วยเหลือ สร้างความร่วมมือ รวมทั้งมีความหลากหลายทางอารมณ์ มีความคิดสร้างสรรค์ ความเทคโนโลยี


* Find Information (การหาข้อมูล)

หนึ่งในทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล คือ การฉลาดใช้เครื่องมือในการค้นคว้าหาข้อมูลออนไลน์ ทักษะนี้เป็นประโยชน์ทั้งกับนักเรียนให้ปลอดภัยจากความผิดเรื่องคัดลอกผลงาน (Plagiarism) ของผู้อื่นและผู้ใช้ทุกคนที่ได้มีทักษะในการหาข้อมูลที่มีความหมายและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

การคัดกรองข้อมูลมากกว่าการเสิร์ช Google มากกว่าเปิด Wikipedia แล้ว copy + paste มีการเลือกใช้คีย์เวิร์ดคำค้นหาที่หลากหลาย ใช้ search engine ที่หลากหลาย รู้จักแยกแยะแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากกว่าการกดที่ลิ้งค์แรกๆ ด้านบนอย่างเดียว ให้เลือกเน้นแหล่งข้อมูลหลัก (primary source) ที่เจ้าของเขียนบนความนั้น นอกจากนี้ผู้ใช้ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงข่าวลวงได้ง่ายดายแม้จะเป็นแหล่งที่หน้าเชื่อถือ (เช่น Fake news ในวันโกหก April Fool) จึงไม่ควรเชื่อทุกสิ่งที่อ่านและตรวจสอบข้อมูลและแหล่งที่มาอย่างน้อย 2-3 แหล่ง

ที่สำคัญตอนนี้เป็นยุคที่การตลาดออนไลน์รุ่งเรือง ผู้บริโภคถูกโหมกระหน่ำด้วยข้อมูลและคอนเทนท์ (content) ออนไลน์มากมาย จึงจำเป็นที่เราต้องอ่านให้ออกว่าข้อมูลที่ปรากฎสู่สายตาเรานั้นแฝงวัตถุประสงค์อะไร และมีการปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อใด ( ตัวอย่างเช่น เราจะไม่แตกตื่นว่าจะเกิดสึนามิเพราะอ่านบทความย้อนหลัง ซ้ำร้ายแชร์เตือนภัยให้คนรอบตัว..แล้วเพิ่งมารู้มาข่าวมั่ว)


* Communication and "Netiquette" (การสื่อสาร และ"มารยาทการใช้เน็ท")

ผู้มีความรู้ใน digital literacy จะสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีมารยาทและปลอดภัยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นบนเครือข่ายโซเชียลเน็ทเวิร์ก เช่น Facebook Twitter หรือ Instagram บริการส่งข้อความอย่าง Line การดาวน์โหลดผ่าน Netflix การเขียนบทความ (Blog) การทำบล็อคในรูปวิดิโอ (Vlog) บน YouTube การส่งอีเมล์ (Gmail, Outlook, Yahoo, Live) การสื่อสารขณะเล่นเกมส์ออนไลน์ แม้แต่การใช้บริการหาคู่ออนไลน์อย่างมีวิจารณญาณ


* Functional Skills

ความรู้พื้นฐานในการใช้อุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ แอพพลิเคชัน ประยุกต์เทคโนโลยีสู่การดำเนินการ เป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานและการใช้ชีวิตเพราะโลกมีการ "Digitalization" แล้ว ทักษะในการแก้ปัญหาทางเทคนิครวมทั้งต้องปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วทันท่วงทีไม่ได้เป็นหน้าที่เฉพาะนักคอมพิวเตอร์ หรือคนงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่เป็นทักษะที่ผู้ใช้เทคโนโลยีทุกคนต้องมีด้วย


8. ICO (Initial Coin Offering)

การระดมทุนในรูปแบบการสร้างเหรียญ token (่อ่านว่า "โทเคน") และขายเหรียญเหล่านั้นให้นักลงทุน การออกเหรียญ cryptocurrency โดยการเขียนโค้ดผ่าน Smart Contract บางทีจะเรียกว่า Initial Token Offering สินค้าสามารถเปลี่ยนเป็นมูลค่าออนไลน์และซื้อขายแลกเปลี่ยนออนไลน์ได้

เมื่อเทียบกับ IPO (การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์) ICO มีต้นทุนต่ำกว่ามาก

ข้อควรระวังในการลงทุนผ่าน ICO คือนอกจากดู "White Paper" แล้วต้องดูว่าผลิตภัณฑ์เป็นไปได้จริงหรือไม่ ดูรายละเอียดธุรกิจ ความต้องการ (ดีมานด์) ของตลาด


Bitcoin Cryptocurrency

วันนี้เราเตรียมทักษะดิจิทัลสำหรับวันพรุ่งนี้แล้วหรือยัง?

10 views0 comments
bottom of page